Friday, December 14, 2007

first

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการมอบนโยบาย"การปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ" ว่าปัจจุบันสังคมไทยอยู่ในขั้นวิกฤต จึงต้องปฏิรูปการปกครองกันใหม่ โดยเฉพาะในด้านคุณธรรมจริยธรรมเป็นเรื่องที่รัฐบาลเห็นว่ายังด้อยอยู่ ดังนั้น รัฐบาลจึงกำหนดเรื่องคุณธรรมเป็นเรื่องหลักในการให้การศึกษาแก่เยาวชน เพราะหากไม่เร่งทำอะไรให้ดีขึ้น อาจถึงขั้นทำให้สังคมล่มสลาย

"นโยบายการจัดการศึกษาของรัฐบาลชุดนี้กำหนดไว้ชัดว่าคุณธรรมนำความรู้ แทนความรู้คู่คุณธรรม พร้อมเน้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความสมานฉันท์ สันติวิธี โดยกระบวนการเรียนรู้โดยใช้คุณธรรมเป็นฐานจะต้องเชื่อมโยงกับ 3 สถาบัน คือครอบครัว สถานศึกษา และศาสนา หรือ "บวร" คือบ้าน วัด โรงเรียน อย่างไรก็ตาม ศธ.ได้กำหนดเป็นโครงการการเสริมสร้างคุณธรรมในระบบการศึกษาไทย ซึ่งจะเป็นแผนแม่บทในการศึกษาของไทย โดยมอบให้แต่ละหน่วยงาน และสถาบันการศึกษาพิจารณา และทบทวนสิ่งที่ทำอยู่แล้วว่ามีอะไร และมีสิ่งใหม่ที่จะเสริมเติมเต็ม โดยดึงเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นเครือข่าย รวมทั้งอาจต้องฟื้นกิจกรรมบางอย่าง เช่น กิจกรรมค่าย การบำเพ็ญประโยชน์ อาสาสมัคร เป็นต้น ในระดับอุดมศึกษา ต้องเป็นที่พึ่งให้กับการศึกษาในระดับอื่นๆ ในการให้ความรู้ความเข้าใจ และเป็นตัวอย่างการเสริมสร้างคุณธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะศึกษาศาสตร์ และครุศาสตร์"

“คุณธรรมนำความรู้ สู่สังคมแห่งสันติ”

นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในเปิดการสัมมนาเครือข่ายครอบครัวคุณธรรม และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “คุณธรรมนำความรู้ สู่สังคมแห่งสันติ” เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๐ ที่หอประชุม พลเอกสุจินดา คราประยูร โรงเรียนทวีธาภิเศก

รมว.ศธ. ได้ย้ำนโยบายสำคัญของรัฐบาลปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายทางด้านสังคม ซึ่งเน้นเรื่องการเสริมสร้างคุณธรรมในสังคมไทย และเป็นเรื่องของกระทรวงทางด้านสังคมหลายกระทรวง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม งานบางส่วนของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งแรกที่มีการประกาศนโยบายและร่วมกันระหว่างกระทรวงที่มีบทบาทในการพัฒนาสังคม ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยแต่ละกระทรวงได้นำเรื่องนี้ไปทำแผนปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่

กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขานรับนโยบายเรื่องการเสริมสร้างคุณธรรมในสังคมไทย โดยได้กำหนดการเสริมสร้างคุณธรรมในระบบการศึกษาไทย ซึ่งระบบการศึกษาไทยเป็นระบบเก่าที่จะต้องพัฒนาเยาวชน และเสริมสร้างวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ศธ.จึงได้ประกาศนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งเปลี่ยนจากการพัฒนาคนให้มีความรู้คู่คุณธรรม เป็น “คุณธรรมนำความรู้” ด้วยเหตุผลที่ว่า การที่จะสามารถพัฒนาคนให้เป็นคนดี พัฒนาให้เก่งและเป็นคนมีความสุขได้ เป็นเรื่องที่ไม่ยาก แต่ถ้าเน้นให้เป็นคนเก่ง ดีและมีสุข ตามหลักการที่ยึดถือในการปฏิรูปการศึกษา ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะเป็นเพียงคนเก่ง แต่ไม่เป็นคนดี ก็จะกลายเป็นบุคคลที่เอาเปรียบสังคม

รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า นโยบายการศึกษาไทยในรัฐบาลปัจจุบัน เน้นเรื่องการพัฒนาคนดี มีความรู้ และอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน รวมทั้งได้วางแนวทางอย่างชัดเจนในเรื่อง การตระหนักสำนึกในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความสมานฉันท์ สันติวิธี และวิถีชีวิตประชาธิปไตย โดยมีคุณธรรมเป็นพื้นฐาน ดำเนินการประสานกันระหว่างสถาบันหลักในสังคม ๓ สถาบัน อันได้แก่ สถาบันครอบครัว สถานศึกษาและสถาบันทางศาสนา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเก่าที่ถูกละเลยมานาน

การศึกษา คือ บวร ซึ่งแปลว่าความเจริญรุ่งเรือง แต่แท้จริงแล้วย่อมาจากคำว่า บ้าน วัด และโรงเรียน เป็นการยึดถือมาตั้งแต่สมัยโบราณว่า กระบวนการพัฒนาคน สิ่งที่มีชีวิต คนจะเกี่ยวข้องกับ ๓ สถาบันเป็นหลัก เพราะสถาบันเหล่านี้ให้การศึกษาอบรมในทุกๆ ด้าน

ในส่วนของด้านคุณธรรม ขณะนี้ ศธ.ได้จัดทำแผนปฏิบัติการ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว ใช้ชื่อว่า “แผนการเสริมสร้างคุณธรรมในระบบการศึกษาไทย” โดยมีคณะกรรมการเสริมสร้างคุณธรรมในระบบการศึกษาไทย มีการเชื่อมโยงกับสถาบันครอบครัว สถาบันทางศาสนา และสถานศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท ถือได้ว่าเป็นแบบอย่างที่เครือข่ายของสถาบันต่างๆ จะร่วมกันทำให้มากขึ้น และขยายผลให้สมบูรณ์ต่อไป

Monday, December 10, 2007

การ์ตูนส่งเสริมคุณธรรม "พระพุทธเจ้า"

"พระพุทธเจ้า" (The Life of Buddha) ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นคนไทยทำ ที่หลายๆ คนรอคอยก็เสร็จลงแล้ว ทันเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมานานถึง 4 ปี โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณการจัดสร้างที่ทำเอา ดร.วัลลภา พิมพ์ทอง ประธานบริษัท มีเดียสแตนดาร์ด จำกัด ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง ถึงกับหมดเนื้อหมดตัว ต้องจำนองบ้าน 2 หลัง รถทุกคัน ที่ดิน ทรัพย์สินทุกอย่าง ซ้ำยังเป็นหนี้สินอีกหลายสิบล้านบาท
จากที่ตั้งงบประมาณไว้ทีแรก 50-60 ล้าน เอาเข้าจริงๆ กว่า จะเรียบร้อยเฉพาะแค่ตัวแอนิเมชั่น ความยาว 100 นาที ไม่รวมซาวด์ เอฟเฟ็คต์ และลงเสียพากย์ ก็ปาเข้าไป 108 ล้านบาท แล้วยังมีค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์อีกตกในราว 12 ล้านบาท


งานนี้ ดร.วัลลภาว่า นอกจากจะเป็นการเฉลิมฉลองในมหามงคล 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังเป็นความตั้งใจที่จะ ทำเพื่อเป็นพุทธบูชา และสุดท้ายคือเพื่อเผยแผ่พระพุทธประวัติในรูปแบบของการ์ตูนแอนิเมชั่นที่เป็นฝีมือคนไทยล้วนๆ
ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมทั้ง "กลุ่มธรรมะ การ์ตูน 80 พรรษามหาราช" ที่มีพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี เป็นประธาน คณะทำงาน ให้คำปรึกษาในเรื่องของเนื้อหาและภาษา ดร.สุเมธ ตันติ เวชกุล เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และยังมี รศ.ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์, ปริชญา พรประภา, เชิดพงษ์ ศรีสุธรรม, ปริญญา โบราณประสิทธิ์ และแทนคุณ จิตต์อิสระ เป็นคณะกรรมการ ช่วยกันผลักดันให้โครงการนี้เป็น รูปธรรมมากยิ่งขึ้น
มี "มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย" ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเนื้อหาวิชาการ และแปลเป็นภาษานานาชาติอีก 5 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น และภาษาเยอรมัน
ดร.วัลลภาเล่าถึงที่มาของความตั้งใจที่จะผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่นชุดนี้ ว่า เมื่อครั้งที่ไปเรียนปริญญาโทปริญญาเอกที่อินเดียอยู่ 6-7 ปี และมีโอกาสได้ไปกราบสักการะสังเวชนียสถานทั้งสี่ โดยเฉพาะที่มหาวิหารพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้กราบพระพุทธเมตตา องค์พระประธาน รู้สึกศรัทธาและประทับใจในพุทธลักษณะ
กระทั่งได้เข้าทำงานด้านการผลิตสื่อการเรียนการสอน ประจวบกับในช่วงนั้นรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการ์ตูนแอนิเมชั่น ความคิดที่จะผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่นจึงเกิดขึ้น
ตัวอย่างภาพจากหนังสือและภาพยนตร์ "พระพุทธเจ้า"



"เราเคยมีประสบการณ์ทำสื่อการ์ตูนเพื่อการเรียนการสอน จึงมองว่าหากทำการ์ตูนเรื่องนี้ขึ้นมาก็น่าจะทำให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงศาสนาพุทธได้ง่ายขึ้น โดยได้นำพุทธลักษณะของพระพุทธเมตตา พระประธานในมหาวิหารพุทธคยาเป็นแม่แบบของ "พระพุทธเจ้า" และนำจินตนาการเข้าไปใส่
"บุคลิกของตัวละครได้มาจากพระไตรปิฎก โดยมีคณะกรรมการร่วมกันตีความ อย่างพระโมคคัลลาแข็งแรงก็ต้องท้วมหน่อย พระสารีบุตรก็ผอมหน่อย
"หลายปีมานี้หลายคนจะพูดถึงเรื่องคุณธรรมจริยธรรม เราอยากให้มีสื่อดีๆ ให้กับเด็กและเยาวชน สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญ ภาพยนตร์เรื่องนี้เราทำเพื่อเป็นพุทธบูชา อยากให้เป็นสื่อที่ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม และศีลธรรมให้กับเด็กและเยาวชนรวมไปถึงประชาชนทั่วไป"
ที่สำคัญคือ ทีมงานทุกคนต่างทำงานด้วยหัวใจ เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้ว่าทำแล้วขาดทุนก็ตาม
ส่วนทีมงานที่ผลิตภาพยนตร์ชุดนี้ ดร.วัลลภาเล่าว่า ทางบริษัท มีเดียสแตนดาร์ด จำกัด มีทีมงานที่ทำงานทางด้านกราฟิคอยู่แล้ว ส่วนคนที่วาดนั้น เคยทำงานให้กับวอลต์ ดิสนีย์ และจากทางญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการรวบรวมคนที่วาดหลากหลายคน ซึ่งทุกกระบวนการมีความสำคัญทั้งหมด ซึ่งทีมงานทั้งหมดเป็นทีมงานของบริษัทประมาณ 30 คน รวมถึงทีมงานที่รับ งานเป็นฟรีแลนซ์อีก 30 คน
"ทีมงานของเรามีประสบการณ์การทำงานในวงการแอนิเมชั่นระดับโลก อย่างค่ายภาพยนตร์ชั้นนำจากฮอลลีวู้ด เช่น วอลต์ ดิสนีย์, วอร์เนอร์ บราเธอร์ส และ เอ็มจีเอ็ม อาทิภาพยนตร์เรื่อง มู่หลาน ทาร์ซาน ไลอ้อนคิงส์ เฮอร์คิวลิส การ์ฟิลด์ และอื่นๆ อีกกว่า 30 เรื่อง"


ดร.วัลลภายังเล่าถึงจุดเด่นของภาพยนตร์การ์ตูนพระพุทธเจ้าว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดำเนินตามพระไตรปิฎก และอรรถกถาบาลี แต่ก็ได้คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของตัวละคร ซึ่งต้องเผชิญทั้งสุขและทุกข์ ความสมหวังและความผิดหวัง ส่วนอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า แม้เป็นเรื่องที่คนยุคปัจจุบันรับได้ยาก ทางเราได้พยายามเสนออย่างสมเหตุสมผล
ทางด้าน อัมภิรา วงษ์ธรรมา ผู้ควบคุมการผลิต เล่าถึงเบื้องหลังการ ผลิตภาพยนตร์ชุดนี้ว่า ความที่แม่แบบของพระพุทธองค์ได้มาจากภาพวาดที่ ดร.วัลลภานำมาจากประเทศอินเดีย แต่ก็ต้องมาปรับให้เป็น "คน"


หนังสือ "พระพุทธเจ้า" - พระพุทธเมตตา ต้นแบบตัวการ์ตูนละครพระพุทธเจ้า
"ตัวการ์ตูนพระพุทธเจ้านั้น มีสองบุคลิก คือ ตอนที่ท่านบวช และตอน ที่ท่านตรัสรู้ก็จะไม่เหมือนกัน ในพระไตรปิฎกบอกว่า เป็นคนตัวสูง และ ตัวใหญ่มากๆ เราจึงจิตนาการว่า จะต้องมีร่างกายกำยำแข็งแรง ผิวพรรณสีชมพู อีกทั้งจะต้องมีบุคลิกที่เป็นเจ้าชายในนิยาย คือ มีรูปร่างหน้าตาดี เพราะท่านเป็นตัวเอกของเรื่องจึงอยากให้ท่านดูดีที่สุด
"แต่หลังจากตรัสรู้แล้วก็จะเป็นอีกบุคลิก เช่น พระพักตร์ที่เรียวขึ้น เพราะผ่านการบำเพ็ญทุกรกิริยามา พบหนทางการดับทุกข์แล้ว"
รศ.ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์ หัวหน้าภาควิชาครุศาสตร์เทคโนโลยี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่น "พระพุทธเจ้า" เล่าถึงการเข้ามามีส่วนร่วมกับผลงานชิ้นเอกนี้ว่า ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นหน่วยงานที่แต่งตั้งให้เข้ามาเป็นคณะกรรมการพิจารณาเนื้อหาและความถูกต้องของบทภาพยนตร์
"การกำกับภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นนั้นไม่เหมือนกับการกำกับภาพยนตร์ทั่วไป เริ่มตั้งแต่การกำหนดเนื้อหาที่จะนำเสนอว่ามีความถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งการใส่จินตนาการที่เกิดจากการตีความตัวหนังสือในพระไตรปิฎกให้เป็นภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องให้สอดคล้อง และตรงตามพระไตรปิฎกที่สุด โดยมีคณะกรรมการช่วยกันพิจารณา"
รศ.ดร.กฤษมันต์ยังบอกอีกว่า "ส่วนที่ยากที่สุดคือ คนที่วาดจะต้องมีลักษณะงานที่แบ่งแยกกันทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากสำหรับผู้กำกับภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวาดลงเส้นน้ำหนัก ในการวาดของแต่ละคนก็จะไม่เท่ากัน ซึ่งจะต้องบอกและสอนให้คนวาดรู้ว่าโมเดลของตัวละครแต่ละตัว จะเป็นอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการวาด"
ขณะเดียวกันการดำเนินเรื่องก็ต้องให้มีความสนุกสนาน ตื่นเต้น และน่าติดตาม และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องการให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นประโยชน์ทางด้านการศึกษาและมีความบันเทิงควบคู่กันไป
"ในอนาคตอาจจะมีการจัดสร้างห้องแสดงนิทรรศการในการผลิตภาพยนตร์ "พระพุทธเจ้า" ไว้ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยต่อไป"


อนุรุธ ว่องวานิช นายกสมาคมยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ความเห็นว่า การ์ตูนเรื่องพระพุทธเจ้าเป็นผลงานของคนไทยที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง และได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในโครง การเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 และโครงการทำดีเพื่อพ่อ
ถือเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนทั้งภาครัฐและเอกชน จะมาร่วมกันเป็นพันธมิตรสนับสนุนการเผยแพร่ภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องนี้สู่สาธารณชนให้กว้างขวางที่สุด เพื่อเป็นพุทธบูชาและเพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวงของเรา
นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากเครือโรงภาพยนตร์ต่างๆ ทั้งเมเจอร์ อีจีวี และเอสเอฟ ให้ฉายนานเป็นพิเศษ โดยในวันที่ 4 ธันวาคม 2550 เวลา 09.09 น. จะจัดฉายรอบพิเศษสำหรับเยาวชนด้อยโอกาส พระภิกษุและสามเณร จำนวน 1,000 ที่นั่งในโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้หน่วยงานหรือสถานศึกษาสามารถซื้อบัตรชมภาพยนตร์ได้ในราคาพิเศษเพียง 80 บาท เมื่อสำรองที่นั่งเป็นหมู่คณะ และฉายจริงพร้อมกันในโรงภาพยนตร์ชั้นนำทั่วประเทศในวันที่ 5 ธันวาคม 2550
หากใครอยากจะอ่านเรื่องราวของ "พระพุทธเจ้า" ก่อนใคร ทาง "สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี" ได้จัดทำหนังสือการ์ตูน "พระพุทธเจ้า" (The Life of Buddha) ซึ่งเป็นการประมวลภาพบางส่วนจากภาพยนตร์ พร้อมคำบรรยายเรื่องราวพระพุทธประวัติ รวมถึงประวัติของอรหันต์สาวกที่ถูกต้องตามพระไตรปิฎก ตัวเล่มมีขนาดกะทัดรัด พร้อมภาพประกอบสวยงามคุณภาพระดับการ์ตูนวอลต์ ดิสนีย์ มีจำหน่ายที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศในราคา 169 บาท
ส่วนผู้มีจิตศรัทธาที่สนใจร่วมสนับสนุนการเผยแพร่หนังสือและภาพยนตร์การ์ตูน "พระพุทธเจ้า" โดยการร่วมจัดซื้อหนังสือ และดีวีดี ในราคา 1,500 บาท ซึ่งจะจารึกรายนามผู้บริจาคลงในหนังสือเพื่อมอบให้กับโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ หรือร่วมสนับสนุนโครงการ โดยซื้อ ซีดี เพลงประกอบภาพยนตร์การ์ตูน, หนังสือการ์ตูน เรื่อง พระพุทธเจ้า, และเสื้อ โดยสามารถติดต่อร่วมบริจาคได้ที่ ชื่อบัญชี กลุ่มธรรมะการ์ตูน 80 พรรษามหาราช ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อยจรัญสนิทวงศ์ 48 บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 121-222999-1 สอบถามรายละเอียดที่โทร.0-2556-1366-7
นอกจากนี้สามารถติดต่อได้ที่ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โทร.0-2805-0790-3 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและชมตัวอย่างภาพยนตร์ได้ที่ www.thelifeofbuddha.net และ www.ybat.org
และนี่ก็คือเรื่องราวของ "พระพุทธเจ้า" ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นฝีมือคนไทย ที่ไม่ด้อยไปกว่าชาติไหนๆ


เว็บไซต์มติชน 12 พ.ย.50